เกี่ยวกับเรา

เว็บไซต์วงศ์เสนา ( WongSeNa ) จัดทำขึ้นโดยวัชรากรณ์ และญาติๆ ผู้เกี่ยวข้องกับตระกูลวงศ์เสนา ช่วยกันบันทึกสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมา มีทั้งสุขทุกข์ สำเร็จและล้มเหลว ชีวิตกับการดำรงอยู่ซึ่งวงศ์ตระกูลดำเนินมาอย่างไรและจะมีจังหวะก้าวเดินต่อไปอย่างไร…

"วงศ์เสนา"

ผ่านการบอกเล่าของ น้าเจน วรรณาอรัญ

บันทึกเรียบเรียงโดย
สมพล สมเกียรติกุล

Web Site of WongSeNa : เว็บไซต์ของตระกูลวงศ์เสนา

 ชีวิตคนผ่านมาแล้วก็ผ่านไปตามแต่วัย ในยามยังเด็ก ทุกคนก็อยู่ท่ามกลางพ่อแม่พี่น้อง โตขึ้นก็ค่อยๆ รู้จักคนมากขึ้น เริ่มจากเพื่อนเล่นข้างบ้านจนได้เพื่อนในโรงเรียน แต่ละชีวิตผันแปรไปตามโชคชะตา ครั้นเลยมาจนเข้าสู่วัยชรา หลายๆ เรื่องในชีวิตก็มีแต่ผ่านพ้นไป ไม่สามารถย้อนคืนกลับได้ พี่น้องบางคนก็จากกัน บางคนชราภาพจนจำความเก่ามิได้

วันหนึ่ง ในขณะที่ผมมีวัย 67 ปี จะคิดว่าสูงวัยก็คงใช่ แต่ความที่เป็นคนช่างจำเรื่องราวต่างๆ ผมบันทึกคำบอกเล่าของญาติผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด ให้ท่านได้ทบทวนความหลังให้ผมฟัง และไม่แน่ว่าผมจะจดจำเรื่องเหล่านั้นไปได้นานแค่ไหน จึงขอบันทึกเอาไว้เป็นความทรงจำเผื่อรุ่นลูกหลานใคร่รู้

สมพล สมเกียรติกุล

เรื่องที่ผมบันทึกไว้นี้เป็นเรื่องที่ผมมีส่วนเกี่ยวข้องทางอ้อมในฐานะลูกเขยของบ้านคุณแม่ลาวัณย์ วงศ์เสนา ในขณะที่ประกอบอาชีพกิจการโรงเลื่อยไม้สักในซอยคานเรือ ถนนสามเสน ซอย 21 จากวันที่เข้ามาเกี่ยวดองในครอบครัว ก็คุ้นเคยกับญาติพี่น้องของคุณแม่ลาวัณย์ วงศ์เสนา เป็นอย่างดี โรงเลื่อยไม้สักของพ่อตาแม่ยายผมกำเนิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของท่านทั้งสอง กิจการส่งต่อจากรุ่นพ่อถึงรุ่นลูกดำเนินการต่อมาอีกราวประมาณ 30 กว่าปี จนรวมอายุกิจการได้ประมาณ 65 ปีกว่าๆ และยุติไปในปี 2560

ผมได้ขอให้น้าเจน วรรณาอรัญ น้าสาวของภรรยาผม เล่าถึงชีวิตของน้ากับพี่น้องให้ผมฟัง ในขณะที่เล่านั้น น้าเจนมีวัย 78 ปี สุขภาพสมบูรณ์ จำเรื่องต่างๆ ได้ดี แม้ว่าอาจมีความเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่บ้างตามวัย แต่ด้วยความเป็นคนจำแม่น น้าจึงเล่าชีวิตของน้าและพี่น้องให้ผมฟังอย่างละเอียด น้าเจน วรรณาอรัญ เล่าว่าครอบครัวของน้ามีพี่น้องร่วมสายเลือด รวม 6 คน ชีวิตวัยเด็กเล็กๆ เคยอาศัยอยู่ย่านถนนดำรงรักษ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จังหวัดพระนครฯ (หรือกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน)

ก๋งหย๊นพัด(หรือหย๊นคี่) เป็นชาวจีนไหหลำ ตำบลบ่นเซียว อำเภอไหโข่ว บนเกาะไหหนาน(หรือไหหลำ) เดินทางมาอาศัยในกรุงเทพ อาชีพรับจ้างช่างไม้ ยายสำลี วงศ์เสนา เป็นชาวบ้านตลาดป๊อกแป๊ก อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ก๋งหย๊นพัดเคยมีครอบครัวมาก่อนในครั้งที่อยู่เกาะไหหลำ แต่ไม่ได้พูดถึงชื่อ มีลูกสาว 1 คน ชื่อ “ยี” อันที่จริงแล้ว ชื่อ “ยี” ในภาษาไหหลำแปลว่า “สอง” จึงอาจเป็นไปได้ว่าก๋งอาจเคยมีลูกที่เมืองจีนเกินกว่าหนึ่งก็ได้

ก๋งมามีครอบครัวในเมืองไทยกับยายลำสี มีลูกด้วยกัน 6 คน

คนที่ 1 คนโตเป็นหญิงชื่อกิมหล่าน หรือลาวัณย์
คนที่ 2 เป็นชายชื่อซีทง
คนที่ 3 เป็นชายชื่อซีซี่ แต่เสียชีวิตไปตั้งแต่เด็ก
คนที่ 4 เป็นหญิงเรียกว่าตี่ มีชื่อไทยว่าสุดา
คนที่ 5 เป็นหญิงชื่อกิมหล่วน ชื่อไทยว่าอุไรรัตน์
คนที่ 6 ชื่อกิมเอง ชื่อไทยว่าสุนีนาฎ

น้าที่เล่าเรื่องนี้ให้ผมฟังเป็นลูกสาวคนที่ 4 น้าเล่าว่าในสมัยแรกๆ ที่ก๋งให้กำเนิดลูกๆ คนโตๆ เคยอาศัยแถบย่านภูเขาทอง ถนนดำรงรักษ์ น้าจำได้ว่าสมัยเด็กได้ย้ายไปอยู่แถวเจริญพาศน์ระยะหนึ่ง และย้ายต่อไปถึงแถววงเวียนใหญ่ แถบฝั่งธน ในเวลานั้นยังเป็นจังหวัดธนบุรี บ้านที่เคยไปอาศัยอยู่แถบตรอกอาเหนียว วงเวียนใหญ่ เป็นที่เก็บสินค้าประเภทแป้งที่นำเข้ามาจากสิงค์โปร์ของเจ้าสัวท่านหนึ่งที่มีชื่อว่าพระยาศรีวิสารวาจา (ซึ่งเป็นชาวจีนไหหลำในสายแซ่ฮุ้น หรือฮุนตระกูล)

ยุคที่ก๋งหย๋นพัดอพยพจากเกาะไหหลำมานั้น ลำบากยากจนมีภัยสงครามบ้านเมืองไม่สงบ คิดว่าขอมาหางานทำที่กรุงเทพชั่วคราว พอจะเก็บเงินเก็บทองได้บ้าง แล้วยังหวังว่าสักวันหนึ่งก็จะกลับไปบ้านเกิด เมื่อมาทำงานในกรุงเทพ โอกาสจะกลับไปก็น้อย เมื่อมีลูกสาวคนโตกับลูกชายคนที่ 2 ก็ส่งเมียและลูกทั้ง 2 คนที่เกิดเมืองไทยกลับไปอยู่ไหหลำ โดยที่บ้านในไหหลำมีลูกสาวที่ชื่อ “ยี” กับเมียคนแรกคอยดูแลที่นั่น

ชีวิตในเกาะไหหลำเท่าที่ผมเคยรับฟังมาจากการเล่าของแม่ลาวัณย์ ซึ่งเป็นลูกสาวคนโตของก๋ง ความเป็นอยู่ในสมัยนั้นลำบาก ต้องทำนาเลี้ยงควาย น้ำก็หายาก จะไปตักน้ำมากินต้องเดินไปไกลลิบ คนจีนมักให้ลูกสาวทำงานหนัก อยู่บ้านซักผ้าถูบ้านทำอาหารตักน้ำมาใช้ ในขณะที่เลี้ยงลูกชายให้สบาย การงานเป็นหน้าที่ผู้หญิงเกือบหมด การส่งลูกเมียให้ไปอยู่เมืองจีนอาจมาจากความคิดเรื่องปัญหาคนต่างด้าว เพราะก๋งยังถือเอกสารคนต่างด้าว มามีลูกชายในเมืองไทย ถึงอย่างไรก็ต้องเป็นสัญซาติไทย สักวันหนึ่งเมื่อลูกชายโต ก็จะต้องถูกเกณท์ทหารเป็นแน่ จึงหาวิธีเลี่ยงไปอยู่ที่โน่น แต่กาลเวลามันสลับ เพราะอยู่ต่อมาอีกไม่นาน เมียและลูกที่ส่งไปก็ต้องอพยพกลับมาเมืองไทยอีกเพราะภัยสงคราม ญี่ปุ่นเริ่มเข้ายึดครองประเทศจีนในหลายเมือง รวมถึงเกาะไหหลำด้วย การเดินทางจากเกาะไหหลำมาเมืองไทยในสมัยนั้นต้องอาศัยเรือสำเภา รอนแรมมาในเรือเป็นสัปดาห์ มีของกินติดต้ว แต่ต้องกินกันด้วยความประหยัดเพื่อให้ได้กินอยู่นาน จึงนับว่าวัยเด็กของแม่ลาวัณย์(หรือกิมหล่าน) กับน้องชายลำบากอยู่ไม่น้อย

ยายสำลีเป็นลูกสาวของก๋งเหล่น แซ่ตัน กับทวดชื่น(เจนเนอเรชั่น ที่ 1) ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าขายหมูอยู่ตลาดป๊อกแป๊ก อำเภอหนองแค สระบุรี พี่ๆ น้องๆ ร่วมสายเลือด เจนเนอเรชั่น ที่ 2 เท่าที่ได้รับฟังมา มีดังนี้

  1. นางส้มจีน
  2. นางยี
  3. นางตา
  4. นายเต้ง
  5. นายหมุ่ย
  6. นายเฮง
  7. นางพวง
  8. นางสำลี
  9. นางจันทร์
  10. นางแสน(หรือนางอำนวย)
  11. นายเหล่ง
  12. และยังมีอีกท่านหนึ่งที่ผู้เล่าจำชื่อไม่ได้

* รายชื่อนี้อาจเรียงลำดับไม่ตรงกับความเป็นพี่น้อง

เป็นที่น่าสังเกตุว่าพ่อแม่ของเหล่ายายตาทั้งหลายเป็นคนจีน ใช้แซ่ว่าแซ่ตัน เหตุใดบรรดาลูกหันมาใช้นามสกุล”วงศ์เสนา” เรื่องนี้รุ่นผู้ใหญ่เล่าต่อกันมาว่าคนไทยในยุคสมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มตั้งนามสกุลใช้กัน นายเต้งหรือที่เรียกกันว่าก๋งเต้ง ได้ไปเข้ารับราชการทหารและเป็นที่ชอบพอกับผู้บังคับบัญชาในหน่วยที่ท่านสังกัดอยู่ แต่งนามสกุลให้ใช้ว่า”วงศ์เสนา” หมายถึง สายสกุลทหาร ทางพี่ๆ น้องๆ ซึ่งเดิมใช้แซ่ตามพ่อ เห็นว่าเป็นเกียรติแก่ครอบครัวจึงเปลี่ยนมาใช้นามสกุลนี้กันทุกคน แม้ต่อมาถึงรุ่นที่ยายสำลีมามีครอบครัวกับก๋งหย๋นพัดก็ยังคงให้ลูกๆ ใข้นามสกุล “วงศ์เสนา” กันมาโดยตลอด

คนชั้นหลังที่เป็นรุ่นหลานเหลนอาจไม่เข้าใจ เพราะการใช้นามสกุลนั้น ตามธรรมดาคนไทยเราจะถือเอาสกุลของฝ่ายชายเป็นหลัก แต่สำหรับบ้านคนจีนที่มาอยู่เมืองไทยกลับมองว่า ถ้ามีลูกแล้วใช้แซ่ตามพ่อจะเสียโอกาสในการเข้าทำงานหรือเข้าโรงเรียน ลูกหลานคนจีนในยุคก่อนมีความรู้สึกว่าการเป็นลูกจีนเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง ไปโรงเรียนก็มักถูกล้อเลียนจากเพื่อนๆ ว่าเป็นลูกเจ๊ก ด้วยเหตุนี้ ทุกคนจึงภาคภูมิใจที่มีนามสกุล “วงศ์เสนา” ใช้กันมาถึงทุกวันนี้

เจนเนอเรชั่น ที่ 2-3 มีดังนี้

1. นางส้มจีน + สามี(แซ่บ่าง) สามีคนแรก

1.1. ลูกหญิง ชื่อซุ้น
1.2 ลูกชาย ขื่อสงวน
1.3 ลูกหญิง ชื่อยี้
(ทั้ง 3 คนเปลี่ยนมาใช้นามสกุลวงศ์เสนา)

นางส้มจีน + สามีคนที่ 2(แซ่ห่าน)

1.4  ลูกหญิง ชื่อสุภา
1.5. ลูกหญิง ชื่อบุญจันทร์
(ทั้ง 2 ใช้นามสกุลวงศ์เสนา)

2. นางยี + สามี(แซ่อุ่ย)

2.1. ลูกหญิง ชื่อกิมวา
2.2. ลูกหญิง ชื่อลี้ (สายแม่กลอง)
2.3. ลูกหญิง ชื่อกุ่ย (หรือพิกุล)
2.4. และมีลูกติดสามี เป็นชาย ชื่อยี่ส่าย

3. นางตา + สามี ชื่อนายจุก ศิริเวช

3.1. ลูกชาย ชื่ออู๋
3.2. ลูกชาย ชื่ออ้น
3.3. ลูกชาย ชื่อทองขาว
3.4. ลูกชาย ชื่อสัมฤทธิ์
3.5. ลูกชาย ชื่อทองใบ
3.6. ลูกสาว ชื่อนกแก้ว
(ครอบครัวนี้เรียกญาติสายสระบุรี ส่วนใหญ่อาศัยอยู่แถบวัดเขาดิน อ.หนองแค จ.สระบุรี)

4. นายเต้ง(ร.อ.วุฒิ วงศ์เสนา) มีภรรยาชื่อม้วน

4.1. ลูกหญิง ชื่ออรุณ (ลูกติดแม่ ของนางม้วน)
4.2. ลูกชาย ชื่ออุทัย วงศ์เสนา
4.3. ลูกชาย ชื่อเล็ก วงศ์เสนา
4.4. ลูกชาย ชื่อตุ่ม วงศ์เสนา

5. นายหมุ่ย + ภรรยา(ไม่ทราบชื่อ)

5.1. ลูกหญิง ชื่อกุหลาบ

6. นายเฮง + ภรรยา(ไม่ทราบชื่อ)

6.1. ลูกชาย ชื่อเส็ง
6.2. ลูกหญิง ชื่อดำ
6.3. ลูกหญิง ชื่อเจือ
6.4. ลูกหญิง ชื่อพิศมัย
6.5. ลูกหญิง ชื่อเล็ก

7. นางพวง + สามีชื่อฮ้อน(ไม่ทราบนามสกุล)

7.1. ลูกชาย ชื่ออุดม (อยู่สระบุรี)
7.2. ลูกชาย ชื่อบุญช่วย
7.3. ลูกหญิง ชื่อสมพร (อยู่แปดริ้ว ฉะเชิงเทรา)
(เดิมทุกคนใช้นามสกุลวงศ์เสนา)

8. นางสำลี + สามีชื่อหย่นพัด(แซ่ด่าน)

8.1. ลูกหญิง ชื่อลาวัณย์(กิมหล่าน)
8.2. ลูกชาย ชื่อซีทง
8.3. ลูกชาย ชื่อซี่ซี่(เสียชีวิตเยาว์วัย)
8.4. ลูกหญิง ชื่อสุดา(ตี่)
8.5. ลูกหญิง ชื่ออุไรรัตน์(กิมหล่วน)
8.6. ลูกหญิง ชื่อสุนีนาฎ(กิมเอง)
(ญาติสายนี้เคยอาศัยอยู่แถบซอยคานเรือ บางกระบือ และแถบถนนดำรงรักษ์ กรุงเทพฯ)

9. นางจันทร์ + สามีชื่อนายสิน อนุเสถียร

9.1. ลูกหญิง ชื่อสมบัติ
9.2. ลูกชาย ชื่อสมพงษ์
9.3. ลูกหญิง ชื่อสมพิศ
9.4. ลูกหญิง ชื่อสมพร(แดง)
9.5. ลูกชาย ชื่อสมศักดิ์
9.6. ลูกชาย ชื่อสมชาย
(ญาติสายนี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดลพบุรี จึงเรียกว่าญาติสายลพบุรี)

10. นางแสน + สามี(ไม่ทราบชื่อ) แซ่หว่อง

10.1. ลูกหญิง ชื่อเรณู
10.2. ลูกหญิง ชื่อแจ๋
10.3. ลูกหญิง ชื่อนิด
10.4. ลูกหญิง ชื่อแกละ
10.5. ลูกหญิง ชื่อใหญ่
10.6. ลูกหญิง ชื่อตุ๋ม
10.7. ลูกชาย ชื่อโบ้
(บางรายในญาติสายนี้อาศัยในจังหวัดชัยภูมิ อำเภอภูเขียว)

11. นายเหล่ง (ไม่ทราบข้อมูล)

12. และยังมีอีกท่านหนึ่งที่ผู้เล่าจำชื่อไม่ได้

รายนามทั้งหลายนี้ได้รับข้อมูลจากน้าเจน น้าอุไรรัตน์ ทั้ง 2 เป็นลูกสาวนางสำลี(ยายสำลี) กับคุณแหม่ม นภาพร หลานสาวของนางจันทร์(ยายจันทร์) ซึ่งเป็นญาติสายลพบุรี

ขอบันทึกไว้เป็นข้อมูลสำหรับญาติและรุ่นหลังๆ ได้ทราบ
หากท่านใดเห็นว่าผิดพลาด กรุณาช่วยกันบอกกล่าวเพื่อความถูกต้องต่อไป

นครไหโข่ว ตั้งอยู่ทางตอนเหนือบริเวณปากแม่น้ำหนานตู๋เจียง มีประชากร 2.04 ล้านคน ถือเป็นเมืองที่อยู่ติดกับแผ่นดินใหญ่มากที่สุด เป็นเมืองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของมณฑลไห่นาน อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของนครไหโข่ว ได้แก่ การผลิตเวชภัณฑ์ เทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับการเกษตรเขตร้อน การผลิตยานยนต์ พลังงานใหม่ การวิจัยนวัตกรรมสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
https://thaibizchina.com/country/hainan/