เจน วรรณาอรัญ

WongSeNa : เว็บไซต์ของตระกูลวงศ์เสนา

บันทึกเรียบเรียงโดย
สมพล สมเกียรติกุล

      วันหนึ่งในปี 2562 ผมเห็นน้าเจนนั่งอยู่บนโซฟาที่บ้านมัณฑนา เพราะมาพักค้างกับพี่น้อง วันนั้นผมเห็นน้าใส่เสื้อสีเนื้อ สวยดี จึงขออนุญาตถ่ายรูปไว้รูปหนึ่ง บอกน้าว่าขอให้ทำตัวตามสบาย ผมจะเลือกจังหวะเหมาะๆ ถ่ายเองแบบธรรมชาติ

สมพล สมเกียรติกุล

เมื่อถ่ายรูปเสร็จก็นั่งคุยกันต่อ ผมขอให้น้าเล่าเรื่องอดีตเท่าที่จำได้ให้ผมฟังสักหน่อย น้าถามผมว่าเรื่องเกี่ยวกับอะไร ผมว่าเรื่องชีวิตทั่วๆ ไปตั้งแต่น้าจำความได้ ผมจะขอบันทึกเอาไว้ เพราะผมรู้ดีว่าน้าเป็นคนมีความจำดีและยังถ่ายทอดได้ดีอีกด้วย

น้าเล่าว่าถิ่นเกิดของน้าอยู่แถวถนนดำรงรักษ์ ใกล้วัดสระเกศ อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย จังหวัดพระนคร บ้านที่เคยอยู่กับพ่อแม่พี่น้องสมัยนั้น ปัจจุบันก็คือแถวหลังร้านอาหารสุธาทิพย์ ใกล้ๆ สะพานข้ามคลองมหานาค แถวนั้นในยุคก่อนมักเป็นแหล่งค้าไม้ มีโรงเลื่อยของคนจีนอยู่หลายโรง และมักจะเป็นคนจีนไหหลำ

น้าเกิดวันที่ 10 สิงหาคม ปีพ.ศ.2484 เป็นปีเดียวกับการเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเข้าประเทศไทยหลังจากน้าเกิดได้ 4 เดือน น้าเล่าว่าตอนเด็กๆ มักเรียกน้าว่า “โบ๊เนี้ยว” คนจีนไหหลำมักเรียกคำนี้กับเด็กเล็กๆ แต่ไม่ใช่เป็นชื่อ ชื่อของน้าคือกิมเฮียง หรือชื่อไทยว่าสุดา เคยไปอาศัยอยู่แถวๆ สะพานเจริญพาศน์ ถนนอิสรภาพ เป็นช่วงสั้นๆ พอน้าอายุ 7-8 ขวบ ก็ย้ายไปอาศัยแถวฝั่งธน ซึ่งตอนนั้นยังเป็นจังหวัดธนบุรี บ้านที่น้าไปอาศัย อยู่แถวตรอกอาเหนียว (ศาลเจ้าอาเนี้ยว) ใกล้ๆ สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ บ้านนั้นเป็นโรงเก็บแป้งที่สั่งเข้ามาจากสิงค์โปร์ เป็นของเจ้าสัวใหญ่ท่านหนึ่งในสายแซ่ฮุน ซึ่งมีชื่อราชทินนามว่าพระศรีวิศาลวาจา ผมถามว่าทำไมได้ไปอยู่ที่นั่น น้าเล่าว่าเขาให้ไปอยู่ฟรีๆ ให้พ่อของน้าเฝ้าดูแลโกดัง น้าเรียนหนังสือขั้นต้นที่โรงเรียนวงเวียนใหญ่วิทยาคาร อยู่ริมทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่ – แม่กลอง สมัยนั้นพี่สาวคนโตคือเจกิมหล่านหรือชื่อไทยว่าลาวัณย์ อายุ 19-20 โตเป็นสาวแล้ว

ก่อนหน้านั้นแม่กับพี่สาวคนโตและพี่ชายคนรองเคยไปอาศัยอยู่ที่เกาะไหหลำตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อเป็นชาวไหหลำที่คิดอยู่เสมอว่าจะต้องกลับไปอยู่ที่นั่น พี่สาวกับพี่ชายและแม่ไปอยู่ที่นั่นร่วม 6 ปี แล้วก็กลับมาเมืองไทย

จากพี่สาวคนโตที่ชื่อกิมหล่าน มาเป็นพี่ชายคนรองชื่อซีทง ยังมีพี่ชายต่ออีกคนชื่อซีซี่ แต่เขาอายุไม่ยืน ไม่สบายตายไปตั้งแต่วัยเด็ก น้าเป็นลูกคนที่ 4 (จึงทำให้ต่อมาหลานๆ เรียกน้าว่าไม๊ตี่ (ตี่ แปลว่า สี่ ในภาษาจีนไหหลำ) แล้วน้าก็ยังมีน้องสาวอีก 2 คน คือน้ากิมหล่วนหรือชื่อไทยว่าอุไรรัตน์ กับน้ากิมเองหรือสุนีนาฎ ซึ่งเป็นคนสุดท้อง

น้าเล่าว่าพ่อของน้า ก่อนจะมาอยู่กินกับแม่ของน้า สมัยเป็นหนุ่มที่เกาะไหหลำ เคยมีเมียอยู่ก่อนแล้ว และมีลูกด้วย เป็นหญิงชื่อยี และยังมีลูกเลี้ยงอีกคนหนึ่งที่โตกว่า เรียกว่า”เจ ดัว” (ภาษาจีนไหหลำคำว่า “ดัว” หมายถึง ใหญ่ “เจ” ก็คือพี่สาว คำว่า “ยี ” หมายถึง สอง) ลูกเลี้ยงของพ่อเป็นลูกสาวของพี่ชาย ดังนั้นจะว่าไปแล้วทั้ง 2 ท่านที่ว่า ก็นับเป็นพี่สาวของน้าเช่นกัน

พออายุน้าได้สัก 8-9 ขวบ พี่สาวของน้าก็แต่งงานกับโกจี้เพ่ง แซ่ห่าน เป็นคนจีนไหหลำที่มีหุ้นส่วนกับเพื่อนอยู่แถวถนนดำรงรักษ์ ติดคลองมหานาค พอพี่สาวคนโตแต่งงานมีสามี ก็ไปเช่าบ้านอยู่ย่านวัดญวน สะพานขาว ทั้งพ่อแม่พี่น้องก็ไปอาศัยรวมกันหมด พี่สาวคือเจหล่านให้กำเนิดลูกสาวคนแรกที่นั่น แต่อยู่ได้ 2 เดือน ก็เสียชีวิต 

ต่อมาสามีของพี่สาวก็ออกมาตั้งกิจการโรงเลื่อยเองแถวตรอกคานเรือ บางกระบือ โดยไปเช่าที่ดินของแขกมุสลิม สกุลเพชรทองคำ ตั้งกิจการโรงเลื่อยชื่อโรงเลื่อยจักรลาวัณย์ตามชื่อไทยของเจกิมหล่านที่มีชื่อไทยว่าลาวัณย์ พ่อแม่พี่น้องทั้งหมดก็ไปอาศัยที่นั่น สงครามโลกที่ญี่ปุ่นเข้าไทยจบลงไปตั้งแต่ปี 2488 น้ามีโอกาสไปเรียนต่อแถวนั้นคือโรงเรียนศิรินทรชัยศึกษา อยู่เยื้องๆ กรมชลประทาน ถนนสามเสน สมัยนั้นมีสายรถรางแล่นผ่าน น้องสาวอีก 2 คนก็ไปเรียนด้วย เรื่องไปเรียนที่โรงเรียนนั้นคงจะราวปี พ.ศ.2492-93 ต่อมาก็ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนพิพัฒน์พิทยา สอนภาษาจีน อยู่ในตรอกใกล้ๆ โรงเลื่อย สมัยนั้นในตรอกคานเรือมีโรงไม้ขีดไฟและมีโรงไม้ อื่นๆ อีก 2-3 โรง ในตรอกนั้นมีคนงานเยอะ มีบางบ้านเปิดเป็นซ่องโสเภณี ทำให้ผู้ใหญ่เป็นห่วงลูกสาวหลานสาว ไม่ค่อยอยากให้เดินลำพังตามตรอกนี้

ต่อมาโรงเรียนพิพัฒน์พิทยาเกิดไฟไหม้จนถึงโรงเลื่อย ต้องอพยพไปอาศัยบ้านเช่าอยู่ย่านซอยท่าเขียวไข่กาอยู่ระยะหนึ่ง ก็พากันไปทั้งครอบครัว แต่ก่อนหน้านั้นไปพักอยู่แถวนางเลิ้ง ถนนจักรพรรดิพงษ์ก่อนชั่วคราว จากบ้านเช่าท่าเขียวไข่กา แล้วโรงเลื่อยก็สร้างบ้านใหม่ติดริมคลองที่คั่นกับกรมชลประทาน แล้วทุกคนก็ย้ายกันไปอยู่รวมกันที่บ้านโรงเลื่อย ช่วยกันเลี้ยงหลาน 3 คนแรก ที่เกิดจากพี่สาวคนโตคือเจหล่าน หรือพี่ลาวัณย์ กับ โกจี้เพ่ง หรือพี่วัฒนา แซ่ห่าน…

รอการบันทึกเรียบเรียงต่อ(ถ้ามี)
โดยสมพล สมเกียรติกุล

11 ตุลาคม 2563
กราบเท้าคุณแม่เจน วรรณาอรัญ
และ
รูป 10 ภาพนี้ได้รับมาทางไลน์ก่อนวันที่ 11

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *